Thursday, 20 March 2025 – 12:08
สมาคมเพื่อนโรคไตฯ ยื่นหนังสือประกันสังคม ช่วยผู้ป่วยเจอปัญหาเพียบ! ชงโอนรักษาไปบัตรทอง
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงเลขาฯประกันสังคม หาแนวทางช่วยผู้ประกันตนกลุ่มผู้ป่วยโรคไต หลังเจอ 4 ปัญหาหลัก ทั้งต้องสำรองจ่าย ถูกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าฟอกไต ตัวกรองล้างไต พร้อมชงปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคม ให้มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วม และแก้ม.46 ยกเลิกจ่ายเงินสมทบด้านสุขภาพ ให้ผู้ประกันตนเข้าใช้สิทธิบัตรทอง นำเงินสมทบเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพแทน
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย(สพท.) เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกลุ่มผู้ป่วยโรคไต โดยมีนางนงค์ลักษณ์ กอวรกุล รองเลขาธิการ สปส. รับหนังสือดังกล่าว
ทั้งนี้ สมาคมฯ เผยถึงปัญหาของผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ประกอบด้วย 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.การเข้าถึงบริการล่าช้า เนื่องจากกระบวนการอนุมัติสิทธิ 2.การสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าฟอกไต และค่าทำเส้นเลือด (AVF, AVG, DLC, Tenckhoff) 3.การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่กำหนด เช่น ค่าเตรียมเส้นเลือด ค่าฟอกไต ค่าตัวกรองล้างไต (Dialysate) และค่าเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ4.ปัญหาการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม การให้ข้อมูลไม่ชัดเจน หรือหลีกเลี่ยงการให้คำตอบแก่ผู้ประกันตน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมาคมฯ จึงเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อพิจารณาและปรับปรุงระบบบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตนกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ดังนี้
1.ปัญหาการเข้าถึงบริการล่าช้า เนื่องจากกระบวนการอนุมัติสิทธิ
แนวทางแก้ไข
1.1 กำหนดระยะเวลาในการอนุมัติสิทธิให้ชัดเจนและลดระยะเวลารอคอย โดยให้มีระบบอนุมัติสิทธิแบบเร่งด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
1.2 ปรับปรุงระบบอนุมัติสิทธิให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบสถานะได้แบบเรียลไทม์ เพื่อลดภาระเอกสารและการเดินทางของผู้ป่วย
1.3 กำหนดให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสามารถยืนยันสิทธิการรักษาผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมได้โดยตรง เพื่อลดขั้นตอนที่ซับซ้อน
2.ปัญหาการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าฟอกไต และค่าทำเส้นเลือด (AVF, AVG, DLC, Tenckhoff)
แนวทางแก้ไข
2.1 กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ชำระค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับสถานพยาบาล แทนการให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายและขอเบิกคืน
2.2 ขยายขอบเขตการใช้สิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมการทำเส้นเลือดสำหรับฟอกไต โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขให้ผู้ป่วยต้องสำรองจ่ายก่อน
2.3 จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโรคไตในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วน แต่ไม่สามารถสำรองจ่ายได้
3.ปัญหาการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่กำหนด
แนวทางแก้ไข
3.1 ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคไตให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเตรียมเส้นเลือด ค่าฟอกไต ค่าตัวกรองล้างไต (Dialysate) และค่าเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
3.2 จัดให้มีการตรวจสอบและกำกับดูแลสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.3 จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบการเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลโดยตรง เพื่อให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
4.ปัญหาการสื่อสารของเจ้าหน้าที่
แนวทางแก้ไข
4.1 จัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการให้บริการผู้ป่วยโรคไตโดยเฉพาะ ให้มีความเข้าใจในโรคและสิทธิของผู้ประกันตนอย่างถูกต้อง
4.2 จัดทำแนวปฏิบัติและคู่มือให้คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดปัญหาการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือหลีกเลี่ยงการตอบคำถามของผู้ประกันตน
4.3 จัดให้มีช่องทางการให้ข้อมูลที่ชัดเจน เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาออนไลน์ หรือสายด่วนที่สามารถติดต่อได้โดยตรง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว
4.4 ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พัฒนาการให้บริการสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนหมายเลข 1560 โดยให้สามารถเป็นที่พึ่งและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องร้องเรียนเพิ่มเติมสำนักงานประกันสังคมในเขดพื้นที่ต่าง ๆ
5.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
5.1 ปรับแก้มาตรา 8 เพื่อให้คณะกรรมการประกันสังคมมีผู้แทนองค์กรของผู้บริโภคที่เสนอชื่อโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อความหลากหลายและหลักธรรมาภิบาล
5.2 ปรับแก้มาตรา 14 เพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และผู้แทนองค์กรของผู้บริโภคที่เสนอชื่อโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ในคณะกรรมการการแพทย์
5.3 ปรับแก้มาตรา 46 โดยเสนอให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบในด้านบริการสุขภาพ และให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแทน และนำเงินสมทบไปเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในด้านบำนาญชราภาพ
5.4 ปรับแก้มาตรา 53 โดยเสนอให้ยกเลิกการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลในทุกกรณี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล