Wednesday, 9 April 2025 – 15:25
สปสช. ออกหลักเกณฑ์ใหม่ ช่วยผู้ป่วยได้รับการล้างไตที่เหมาะสม ดันล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก
“สมศักดิ์” แถลงข่าว” พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย” ชี้ สปสช.ได้ยกระดับออกหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไต ที่เหมาะสมที่สุด ขณะที่ เลขาธิการ สปสช. เผย ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ 84,750 ราย เป็นผู้ป่วยรับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม 64,515 รายและการล้างไตผ่านช่องท้อง 20,235 ราย เร่งเดินหน้าดันการล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไต ได้แถลงข่าวการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารบี เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตนั้น เคยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวนหนึ่ง ที่ต้องเสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา แต่หลังจากปี 2551 ได้มีการบรรจุการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น และในวันนี้ การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จะถูกยกระดับขึ้นอีกครั้งโดย สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์กรณีบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฉบับใหม่ ซึ่งเป็นไปตาม มติบอร์ด สปสช.
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่เห็นด้วยตามนโยบาย PD First หรือการล้างไตทางช่องท้อง เป็นทางเลือกแรก ซึ่งยืดหลักการสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านช่องท้อง การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการดูแลด้วยวิธีการประคับประคอง
“นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ กำหนดให้มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วย ก่อนรับการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไต ที่เหมาะสมที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการ ลดผู้ป่วยรายใหม่ เช่น การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรองให้รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง การเกิดโรคไตเรื้อรังและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย ผมหวังว่า ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้ จะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ปัจจุบันได้พัฒนาและมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งรวมถึงการล้างไตผ่านช่องท้องโดยใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ หรือ APD การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การปลูกถ่ายไต และการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการรักษาแบบประคับประคอง โดยปัจจุบัน มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบทั้งสิ้นจำนวน 84,750 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยรับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมจำนวน 64,515 ราย และการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 20,235 ราย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพชีวิตลดลง จากการเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยเอง เช่นกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะยากลำบากเดินทาง และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สิทธิบัตรทอง ในการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบนโยบาย PD First หรือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก โดยดำเนินการทั้งการป้องกันและการชะลอไตวายเรื้อรังในระยะยาว
สปสช. ได้ออกประกาศการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ.2568 เพื่อรองรับการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยรายเก่าที่กำลังรับบริการทดแทนไตก่อนวันที่ 1 เมษายน 2568 นี้ ทุกคนจะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีเดิมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต
ถ้าไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ หรือ ไม่มีข้อจำกัดของครอบครัว จะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีผ่านทางช่องท้อง หรือ ปลูกถ่ายไต หรือรักษาแบบประคับประคองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนรับการบำบัดทดแทนไต
รวมทั้งให้ความรู้ทางเลือกการบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วย โดยปราศจากอคติแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ด้านนพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไตมีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย เมื่อไตเสื่อมสภาพลง ของเสียจะค้างอยู่ในร่างกาย และเกิดอาการแทรกซ้อนเช่นน้ำท่วมปอด ซีด มีความผิดปกติของเกลือแร่ทำให้กระดูกมีปัญหา และหากเป็นไตวายระยะสุดท้าย ของเสียคั่งอยู่ในร่างกายจำนวนมาก ซึ่งในอดีตผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต
การรักษาที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไตใหม่ โดยคนในครอบครัวสามารถบริจาคไต 1 ข้าง เพื่อปลูกถ่ายทดแทนไตที่เสียไป ถัดไปคือการรับบริจาคจากผู้ป่วยสมองตาย อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้เช่น ผู้ป่วยมีอายุมาก มีโรคร่วม หรือกำลังอยู่ระหว่างรอการปลูกถ่ายไต ต้องทำการบำบัดทดแทนไต ซึ่งมี 2 วิธี คือ การล้างไตทางหน้าท้อง ทั้งการล้างด้วยมือ หรือล้างด้วยเครื่องอัตโนมัติ และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่อายุมาก มีโรคร่วม เช่นเป็น โรคหัวใจระยะสุดท้าย มะเร็งระยะสุดท้าย และการบำบัดทดแทนไตไม่ได้ช่วยยืดชีวิตมากนัก ก็สามารถเลือกการรักษาแบบประคับประคอง รักษาตามอาการได้
“สรุปคือแนวทางการดูแลมีอยู่ 4 วิธีขึ้นอยู่กับว่าใครเหมาะสมกับวิธีการใด วิธีที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต หากปลูกถ่ายไตไม่ได้หรือระหว่างรอปลูกถ่ายไตก็ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางหน้าท้องไปก่อนรอจนกว่าจะได้ไตใหม่ แต่ถ้าคนไข้อายุมาก มีโรคร่วมก็สามารถรักษาแบบประคับประคองให้จากไปอย่างสงบสุขได้” นพ.วุฒิเดช กล่าว
ขณะที่นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. มีมติต้องการให้กลับไปให้ความสำคัญกับนโยบาย PD First อีกครั้ง โดยเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตผ่านทางช่องท้องและการปลูกถ่ายเปลี่ยนไตตามสภาวะของผู้ป่วย ซึ่งจุดยืนของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรวม และสร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพระยะยาว แต่ประเด็นสำคัญคือการให้บริการขอให้เป็นไปตามสภาวะและความเหมาะสมกับผู้ป่วยจริงๆ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้จริง เช่น คนไข้มีหน่วยฟอกเลือดอยู่ข้างบ้าน แต่จะให้ไปใช้การล้างไตผ่านช่องท้องก็ไม่เหมาะ ซึ่งก็ขอให้ขึ้นกับบริบทการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย
นอกจากนี้การปรับนโยบายเน้น PD First ในครั้งนี้ สมาคมเพื่อนโรคไตฯ จะร่วมกับ สปสช. สื่อสารและทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงทำความเข้าใจกับประชาชน และเมื่อสร้างความเข้าใจแล้ว สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ อย่างเช่นเครื่องล้างไตอัตโนมัติ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านงานวิชาการและอัตรากำลังเพื่อรองรับนโยบายอย่างเร่งด่วน