Monday, 10 February 2025 – 13:25
ผู้ป่วยร้อง สปสช.ช่วยปม “ใบส่งตัว” กทม. จนบัดนี้ยังไม่ชัดเจน ทั้งมะเร็งรักษาทุกที่ – โรคเรื้อรัง กระทบหมด
สปสช. รับยื่นหนังสือจาก “Heathy Forum” และเครือข่ายผู้ป่วย ยืนยันเข้าใจปัญหา ไม่นิ่งนอนใจ เร่งทำความเข้าใจหน่วยบริการ “กรณีใบส่งตัวผู้ป่วยจากคลินิกชุมชนอบอุ่น” พร้อมชี้แจง “โรคมะเร็งรักษาทุกที่” วันนี้ใช้หลักเกณฑ์เดิม ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ขณะที่เครือข่ายผู้ป่วยเสนอตั้งคณะทำงานร่วม มีตัวแทนภาคประชาชนทุกพื้นที่เข้าร่วม เพื่อพัฒนาระบบ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วย ได้แก่ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง อาร์ตฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล, ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ป่วยเอชไอวี เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง ผลกระทบของผู้ป่วยต่อนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง โดยนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ติดภารกิจ มอบหมายให้ รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับหนังสือแทน
ผู้ป่วยสับสน ขอความชัดเจน
นายธนพลธ์ กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่เป็นนโยบายที่ดี แต่ชื่อนโยบายอาจจะสร้างความสับสน เพราะคำว่าทุกที่ตามนโยบายนี้ หมายถึงหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ รวมถึงร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วม และเป็นเพียงทางเลือกใหม่เสริมจากขั้นตอนการรักษาเดิมที่มีอยู่ แต่ในการรักษาที่หน่วยบริการที่รับส่งต่อ ยังต้องใช้ใบส่งตัวผู้ป่วยอยู่ ทำให้เกิดความสับสน
นอกจากนี้ การรับยาที่หน่วยบริการประจำของผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ยังเป็นปัญหา ด้วยมีการจ่ายยาที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางหลายเที่ยว ดังนั้น จึงมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอให้มีการพัฒนาระบบบริการที่ดีกว่านี้ เนื่องจากเราเป็นผู้ป่วย เป็นผู้ที่อยู่ปลายทางที่ได้รับผลกระทบ และอยากให้มีการจัดคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโดยมีเครือข่ายประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมด้วย
“ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พวกเรายืนเคียงข้างกับระบบบัตรทองมาตลอดและพร้อมที่จะปกป้อง จึงอยากให้มีการพัฒนาระบบที่ดี โดยเฉพาะกรณีมีนโยบายใหม่ๆ อยากให้มีการทำงานหลังบ้านให้เรียบร้อยก่อน และค่อยประกาศให้ประชาชนรับบริการซึ่งเรารอได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับผลกระทบและลดความขัดแย้ง” ประธาน Healthy Forum กล่าวและว่า
นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใช้ไม่ได้จริง จนส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ต้องใช้ใบส่งตัว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนในตัวนโยบาย เสียเวลาในการขอใบส่งตัว เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กระทบผู้ป่วยทำให้เสียสิทธิ์ในการรักษา จนรู้สึกสิ้นหวังในการเข้ารับการรักษา ส่วนทางออกของปัญหาอยากให้มาออกแบบร่วมกัน วางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทั้งหน่วยบริการ โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ สปสช. และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสม ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด
สปสช.อยู่ระหว่างแก้ปัญหา
ด้าน รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สปสช. เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยที่เกิดขึ้น โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของใบส่งตัวนี้ มีความเกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นหน่วยบริการ ผู้รับบริการที่เป็นผู้ป่วย และระบบการเบิกจ่ายต่างๆ โดยปัญหาเหล่านี้ สปสช. อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ในส่วนของ “โรคมะเร็งรักษาทุกที่” เชื่อว่าน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงแล้ว เนื่องจาก สปสช. ได้ให้กลับไปใช้ประกาศฉบับเดิม โดยกรณีของการดูแลค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำแล้ว รวมถึงครอบคลุมการดูแลในส่วนการรักษาผู้ป่วยนอกที่จำเป็น โดย สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามจะมีการทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็งเพิ่มเติม เพื่อลดความสับสนกรณีการขอใบส่งตัวผู้ป่วยมะเร็ง โดยยืนยันว่า สปสช. อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า โรคมะเร็งรักษาทุกที่ ณ วันนี้ สปสช. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้ป่วยตามนโยบายนี้ โดยหน่วยบริกาประจำไม่ต้องตามจ่ายแล้ว แต่ในส่วนของการส่งต่อในโรคอื่นๆ นั้น ยังต้องทำการสื่อสารเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อยังมีกังวลต่อการเบิกจ่าย ด้วยมองว่างบประมาณมีจำกัด รวมถึงภาระการตามจ่ายของหน่วยบริการประจำ โดยในส่วนนี้ สปสช. จะดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วต่อไป
อย่างไรก็ดี กรณีผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ ไม่ได้ส่งไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ทำให้มีปัญหาการเดินทางนั้น ตรงนี้ผู้ป่วยสามารถยืนยันขอรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ยกเว้นหากมีความสะดวกไม่ต้องรอคิว ซึ่งก็อาจเป็นส่วนที่พิจารณา
ร้อง สปสช. มอบหมายผู้บริหาร แก้ปัญหาใบส่งตัว
รายละเอียดในหนังสือ ระบุว่า เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) ร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ ขอขอบคุณท่านที่ร่วมผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวซึ่งเป็นการยกระดับสิทธิบัตรทอง (30 บาทรักษาทุกที่) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพไม่ว่าอยู่ที่ไหนเพื่อรองรับบริการประชาชนใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการให้ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพแม้แต่ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลหรือขาดแคลนก็สามารถเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็น
อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ นับตั้งแต่มีการประกาศนโยบายดังกล่าว พบมีผู้ป่วยจำนวนมากประสบปัญหาในการเข้ารับการรักษาพยาบาล และการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งจากผลการสำรวจโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงต้องใช้ใบส่งตัว และบางกรณีผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ผู้ป่วยที่พบปัญหามากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น รายละเอียดดังสิ่งที่ส่งมาด้วย
ด้วยเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนเพื่อให้ท่านได้รับทราบถึงผลกระทบจากนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังสรุปได้ว่านโยบายดังกล่าว
1) สร้างความสับสนให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วประเทศ
2) มีผลกระทบต่อประสิทธิผลทางการรักษาของผู้ป่วย
3) ผู้ป่วยเสียเวลาและเสียค่าเดินทาง
4) สร้างผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล
ในการนี้ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยนำโดยเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ จึงขอเรียกร้องให้ สปสช. มอบหมายผู้บริหารที่เข้าใจภาคประชาชนร่วมหาทางออก พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ ทั้งขอให้ท่านโปรดเร่งด่วนแก้ปัญหา เพิ่มการประสานงาน เพื่อสร้างเข้าใจและมั่นใจให้กับประชนชนในการรับบริการด้านสาธารณสุขต่อไป
สำหรับผู้ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ ประกอบด้วย
- สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ศูนย์สิทธิผู้บริโภคแรงงานนอกระบบหนองจอก
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตบึงกุ่ม
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิเครือข่ายสลัม 4 ภาค
- เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล
- ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- Healthy Forum
- เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ
- โซนกรุงเทพใต้
- โซนกรุงธนบุรีเหนือ
- โซนกรุงธนบุรีใต้
- โซนกรุงเทพตะวันออก
- โซนกรุงเทพเหนือ
- โซนกรุงเทพกลาง