‘ธนพลธ์ ดอกแก้ว’ เพื่อนแท้ผู้ป่วยโรคไต สู่การเดินหน้าเพื่อสิทธิ ‘โรคเรื้อรัง-โรคหายาก’

‘ธนพลธ์ ดอกแก้ว’ เพื่อนแท้ผู้ป่วยโรคไต สู่การเดินหน้าเพื่อสิทธิ ‘โรคเรื้อรัง-โรคหายาก’ 

The Coverage • 23 สิงหาคม 2567
 

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการมี ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ หรือ ‘กองทุนบัตรทอง 30 บาท’ ในประเทศไทย โดยมีหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือคนไทยต้องเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และต้องไม่ล้มละลายจากการรักษา

ถึงแม้นว่า จะมีระบบมาเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่คนไทยในช่วงนั้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้อง ‘วิ่งหนีตาย – วิ่งหนีความล้มละลาย – วิ่งเข้าหาบริการ’ เพราะสิทธิประโยชน์ยังไม่ครอบคลุมโรคที่เขาเป็นอยู่

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ฉายภาพให้ “The Coverage” เห็นถึงการลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ขับเคลื่อน เรียกร้อง จนเกิด ‘สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย’ ของผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุน เพื่อให้เพื่อนผู้ป่วยไม่ต้องไปวิ่งกู้หนี้ยืมสิน หรือต้องล้มละลายจากการรักษา

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเฉียดแสน เมื่อ 30 บาท (ยังไม่) รักษาทุกโรค 

ธนพลธ์ เริ่มต้นเล่าประวัติว่า เขาได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในปี 2546 ก่อนที่จะได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตโดยใช้เครื่องไตเทียม ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกือบ 2 ปีให้หลัง ของการมีระบบบัตรทอง แต่ขณะนั้นสิทธิการรักษาก็ยังไม่ได้ครอบคลุมโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไต โรคทางจิตเวช โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เอชไอวี/เอดส์ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลอดเวลาในการรักษา เขาเห็นว่าภาพของการเข้าไม่ถึงบริการนั้นยิ่งถูกตอกย้ำชัดมากขึ้น เพราะหน่วยบริการที่เข้ามารองรับอยู่มีจำนวนน้อย บุคลากรทางการแพทย์มีน้อย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไตแต่ละครั้ง ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลักพันบาท

มากไปกว่านั้นในขั้นตอนของการรักษา ยังมียากระตุ้นเม็ดเลือดสำหรับป้องกันภาวะซีด มูลค่าเข็มละ 2,000 บาท เข้ามาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ ซึ่งยังไม่นับค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่รวมแล้วกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ต่อการรักษา 1 ครั้ง

สำหรับตัวเขาเริ่มแรกต้องรับการบำบัดทดแทนไต 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่าบำบัดทดแทนไตครั้งละ 4,000 บาท บวกค่ายากระตุ้นเม็ดเลือดครั้งละ 2,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่าย/ครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท เท่ากับเขาต้องเตรียมเงินเอาไว้สัปดาห์ละกว่า 1.2 หมื่นบาท ซึ่งภายใน 1 เดือน เขาจะต้องใช้เงินจำนวนกว่า 4 หมื่นบาทเพื่อใช้สำหรับการรักษา

ทว่า หลังจากได้รับการรักษาไปช่วงหนึ่ง สุขภาพของเขาก็เริ่มแย่ลง ไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำในปริมาณมากได้ เพราะน้ำและน้ำหนักในร่างกายจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดเป็นภาวะน้ำท่วมปอด และของเสียคั่ง จากที่เคยต้องบำบัดทดแทนไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กลับต้องเพิ่มอีก 1 ครั้ง กลายเป็น 3 ครั้งต่อสัปดาห์

“จากที่เคยต้องจ่ายสัปดาห์ละ 1.2 หมื่นบาท กลายเป็น 1.8 หมื่นบาท คิดดูว่าเดือนหนึ่งเราต้องจ่าย 7.2 หมื่นบาทต่อเดือน นี่คือจุดที่เราต้องจ่ายมาตลอด” เขาสะท้อน

ชวน ‘เพื่อนผู้ป่วย’ ลุกขึ้นสู้ สู่การเกิด ‘สิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคไต’

จนกระทั่งปี 2549 หรือเกือบ 3 ปีให้หลัง ธนพลธ์ เล่าว่า ได้เริ่มรวบรวมเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ป่วยโรคไตที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน และรวมกลุ่มกันตั้ง ‘กลุ่มคนรักไต’ ขึ้น และเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงกลายมาเป็น ‘ชมรมเพื่อนโรคไต’ โดยมี ลุงสุบิน นกสกุล เป็นประธาน และ อัมพร ยลมานะ เป็นรองประธาน แต่ทั้งสองท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ราว 12 ปี

ชมรมเพื่อนโรคไตในตอนนั้น ‘เตรียมพร้อม’ สำหรับการออกมาขับเคลื่อน เพราะหากสถานการณ์ยังเป็นแบบเดิมอยู่ ธนพลธ์ มองว่า เขาและเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ คงจะต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษา และอาจต้องจากโลกนี้ไปพร้อมกับการทิ้งปัญหา-หนี้สินไว้ให้กับครอบครัว

พร้อมกันนั้นเขามองว่าวันหนึ่งอาจมีเพื่อนในหอผู้ป่วย (วอร์ด) โรคไต ที่จะต้องหลุดจากระบบการรักษา เนื่องด้วยแต่ละคนมีความสามารถในการ ‘แบกภาระค่ารักษา’ ไม่เท่ากัน

“เราคุยกันว่าเราจะทำอย่างไร ทั้งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ มี 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว แต่ทำไมถึงไม่รักษาโรคเรา เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าถ้าอย่างนั้น เราก็มาคุยกับผู้ป่วยด้วยกัน ว่าออกมารวมตัวเรียกร้องกันไหม”

ในปี 2549 นั้นจึงเป็นปีที่เขาและกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยเริ่มต้นเรียกร้องให้เกิด ‘สิทธิประโยชน์ในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคไต’ แต่นั่นก็ยังไม่เป็นผล จนกระทั่งมีเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นๆ เช่น เครือข่ายพี่น้องผู้ติดเชื้อ HIV (ที่ได้สิทธิประโยชน์ไปก่อนแล้ว) เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ มาร่วมกันขับเคลื่อนอีกครั้ง

จากนั้นในอีก 2 ปีให้หลัง จึงได้มีประกาศ ‘สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบบัตรทองในปี 2551’ รวมถึงมีการปรับเพดานค่าบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องไตเทียม เหลือครั้งละ 1,500 บาท จากเดิมที่มีราคาสูง จากการต่อรองราคาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นก็ยังต้องมีการ ‘ร่วมจ่าย’ ในสัดส่วนรัฐบาล 1,000 บาท ผู้ป่วย 500 บาท สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยก่อน 1 ต.ค. 2551

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะภายในปีเดียวกันก็ยังได้เกิดสิทธิประโยชน์ขึ้นอีกหนึ่ง นั่นก็คือ ‘สิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง’ ที่ถูกกำหนดไว้เป็นวิธีการรักษาเริ่มต้น สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ป่วยหลัง 1 ต.ค. 2551 เพิ่มจากเดิมที่มีเพียงการบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องไตเทียมเท่านั้น

“พวกเราเรียกร้องให้มีสิทธิ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการฟอกไตด้วยเครื่อง แต่จะฟอกด้วยเครื่องอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะหน่วยบริการ หรือบุคลากรทางการแพทย์มีรองรับไม่เพียงพอ สปสช. ก็เล็งเห็น ดังนั้น จึงเพิ่มสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตผ่านทางช่องท้องเพื่อเพิ่มทางเลือกและให้คนเข้าถึงบริการ” ธนพลธ์ อธิบาย

นอกจากนี้แล้วในการรักษาไตวายเรื้อรัง ยังมีการปลูกถ่ายไต ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน การทำหัตถการ ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนที่แฝงอยู่ในการรักษาเหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ด้วย

ท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ป่วยจึงค่อยๆ ได้รับการเติมเต็มเข้ามาอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทอง จนครอบคลุมทั้งหมดในปี 2555 พร้อมกับการที่ผู้ป่วยก่อน 1 ต.ค. 2551 จะไม่ต้องร่วมจ่ายอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีทางเลือก ‘ล้างไตทางช่องท้อง’ เพิ่มให้กับผู้ป่วยหลัง 1 ต.ค. 2551 เป็นวิธีแรก ยกเว้นว่าหากมีข้อบ่งชี้ว่าทำไม่ได้ ก็สามารถใช้เครื่องไตเทียมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ธนพลธ์ เล่าว่า แม้นว่ามีสิทธิในการรักษา แต่ผู้ป่วยไม่สามารถเลือกวิธีรักษาได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการใช้ชีวิตประจำวัน จึงเกิดปัญหาอีกครั้ง เมื่อการ ‘ล้างไตทางช่องท้อง’ ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตผู้ป่วยบางกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ค้าขายในตลาด ตลอดจนต้องใช้รูปลักษณ์ภายนอกในการทำงาน ฯลฯ ซึ่ง ในกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 5,600 คน ที่ต้องจ่ายเงินเองเพื่อเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องไตเทียม กรณีปฏิเสธการล้างไตทางช่องท้อง และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

จากเสียงสะท้อนที่ได้รับ ทำให้เขาตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าพูดคุยกับ รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้นคือ อนุทิน ชาญวีรกูล จนกระทั่งเกิดเป็นนโยบาย ‘ผู้ป่วยบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่’ ผ่านการตัดสินใจร่วมกับแพทย์ ในวันที่ 1 ก.พ. 2565

“ผมไม่ได้โยงการเมือง หรือนโยบาย เราแค่อยากให้พี่น้องของเราไม่ต้องจ่ายเงิน แต่พอเป็นนโยบายออกมา อย่างแรกก็ทำให้เพื่อนผู้ป่วยโรคไตทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษา และสามารถเลือกรักษาได้ตามความเหมาะสม” เขาอธิบาย

จากเส้นทางการเรียกร้องสิทธิของเขาที่เริ่มขึ้นจาก ‘กลุ่มคนรักไต’ ในปี 2549 กลายมาเป็น ‘ชมรมเพื่อนโรคไต’ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิด ‘สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย’ ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน มีเครือข่ายทั่วประเทศประมาณ 183 เครือข่าย พร้อมด้วยสมาชิกมากกว่า 7 หมื่นคน

‘เพื่อน (ผู้ป่วย) ไม่ทิ้งกัน’ แม้ยามเกิดภัยพิบัติ-โรคระบาด

ในช่วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยบางครั้งจะปรากฏภาพของ ธนพลธ์ อยู่บนหน้าสื่อ ทำให้เกิดคำถามว่าเขามีวิธีจัดการอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขาอธิบายว่าหากยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมใหญ่ ทางสมาคมฯ และเครือข่ายทั่วประเทศ ได้พากันถอดบทเรียนจากวิกฤตการณ์ปี 2554 เพื่อหามาตรการรับมืออยู่แล้ว

บทเรียนจากครั้งอดีต ทำให้เมื่อมีอุทกภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้น สิ่งแรกที่เขาจะดูก่อนคือพื้นที่ปลายน้ำอย่างจังหวัด ‘พระนครศรีอยุธยา’ โดยเฉพาะอำเภอติดริมแม่น้ำ หากเห็นแล้วว่าอยุธยารับน้ำมาก แปลว่าตอนเหนือขึ้นไปเริ่มจะท่วมแล้ว เขาก็จะทำหน้าที่ประสานไปยังเครือข่าย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สปสช.เขต  ไปรษณีย์ไทย ไปรษณีย์ดิสทิบิวชั่น และหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในการลำเลียงน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้อง ประสานหน่วยบริการ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเครือข่ายสมาคมฯ ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเขาใช้วิธีการนี้มาโดยตลอด และกล่าวอย่างมั่นใจว่า “หากเขื่อนไม่แตก ปัญหาไม่มีแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ‘โรคระบาด’ เป็นสิ่งที่ ‘น่ากลัว’ กว่าการเกิดภัยพิบัติ โดยยกตัวอย่างถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยที่ต้อง ‘ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม’ จะเผชิญกับความลำบากมากที่สุด

ธนพลธ์ พาย้อนกลับไปช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตัวเขาพร้อมกับกลุ่มผู้ป่วยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อโควิด-19 และยังต้องได้รับบริการบำบัดทดแทนไตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงแรกบทบาทของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้สมาคมฯ ต้องทบทวนบทบาทขึ้นมาอีกครั้ง

นั่นจึงทำให้ สมาคมเพื่อนโรคไตฯ เปลี่ยนจากผู้สังเกตการณ์ มาทำงานร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รวมถึง สธ. สปสช. ฯลฯ โดยวางบทบาทเป็นศูนย์กลางและมือประสานสิบทิศ ระหว่างศูนย์บำบัดทดแทนไตภาคเอกชนที่รับผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงเปิดศูนย์บำบัดทดแทนไตเข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมกับทางสมาคมฯ

นั่นได้ช่วยให้เพื่อนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องไตเทียมในเขตเมืองและปริมณฑล สามารถเข้ารับบริการได้มากกว่า 2,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่รวมเพื่อนผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ทางเครือข่ายสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ยังได้มีการประสานช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะทางสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ยังได้เป็นศูนย์กลางในการรับ-ส่งต่อยาฟาวิพิราเวียร์ จัดหารถรับ-ส่งต่อ ทั้งรถโรงพยาบาล และแท็กซี่ เพื่อดูแลเพื่อนผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินไปยังหน่วยบริการ รวมถึงเปิดรับบริจาคเงิน อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เช่น ตัวกรองล้างไต ยาอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย โดยเงินทั้งหมดรับบริจาคผ่านทางสมาคมโรคไตฯ ส่วนอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เท่านั้นที่จะอยู่กับสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เพื่อรอส่งไปยังหน่วยบริการในเครือข่าย ซึ่งนับรวมมูลค่าของยา อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทั้งหมด เป็นจำนวนเงินกว่า 10 ล้านบาท

ยกระดับ ‘เครือข่าย’ หารายได้ช่วยเพื่อน ผ่าน ‘วิสาหกิจชุมชน’ 

ไม่เพียงแต่การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์เท่านั้น เพราะ ‘ค่าใช้จ่ายแฝง’ ระหว่างการรักษา ก็ถือเป็นปัญหาหลักที่ผู้ป่วยหลายคนยังต้องพบ ทำให้เครือข่ายสมาคมเพื่อนโรคไตฯ หลายแห่ง เริ่มปรับตัวด้วยการหันมาสร้างร้ายได้ ช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีกติกาการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน 

เขายกตัวอย่างเครือข่ายแห่งหนึ่งในภาคอีสานที่ได้มีการนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วย ในกรณีต้องนอนโรงพยาบาล ปีละ 300-500 บาท หรือบางเครือข่ายก็สมทบเงินเป็นค่าเดินทางให้สมาชิกที่จะต้องเดินทางไปทำหัตถการในการบำบัดทดแทนไต

ขณะเดียวกัน ภาพใหญ่ของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ก็ได้มีการขับเคลื่อน ‘วิสาหกิจชุมชน’ เป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ ด้วยการนำ ‘ถุงน้ำยาล้างไต’ มาแปรรูปเปลี่ยนขยะมาเป็นเงิน เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า เสื้อกันฝน โดยธนพลธ์ เล่าว่าเป็นแนวคิดที่ร่วมกันกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร และอีกหลายๆ เครือข่าย

“สื่อต่างประเทศก็ช่วยเอาไปประชาสัมพันธ์ แล้วเราก็ยังขายให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมไปถึงอีกหลายหน่วยงานที่สั่งกระเป๋าจากสมาคมฯ อย่างเสื้อกันฝนเราก็ส่งให้กับต่างประเทศ เพราะมีความพิเศษคือสามารถกันหิมะได้” เขาเล่าการดำเนินงาน

ไม่เฉพาะโรคไต แต่ ‘โรคเรื้อรัง-โรคหายาก’ ก็ต้องดูแลครอบคลุม 

แม้ธนพลธ์ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยโรคไต ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างถ้วนหน้าในทุกสิทธิประโยชน์แล้วนั้น อีกหนึ่งบทบาทของเขาคือการเป็น ‘ประธานเครือข่ายโรคเรื้อรัง’ ซึ่งขณะนี้ก็เข้ามาร่วมขับเคลื่อน ‘สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคหายาก’ ด้วย เพราะเขามองว่าโรคหายากในประเทศไทยมีประมาณกว่า 300 โรคที่พบ แต่มีเพียง 24 โรคเท่านั้น ที่มีสิทธิประโยชน์ในการรักษา ซึ่งใน 24 โรคนี้มียาที่สามารถครอบคลุมโรคอื่นๆ ได้ถึง 40 โรคด้วยกัน

“ที่เราต้องขับเคลื่อน เพราะเราอยากให้มีศูนย์กลางของโรคหายาก หรือมีข้อมูลของผู้ป่วยโรคหายากทั้งหมดอยู่ตรงกลาง เพราะตอนนี้ข้อมูลที่มีค่อนข้างกระจาย รวมไปถึงเราอยากให้มีการคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้เด็กที่เกิดมาได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ให้ทันต่อการส่งต่อรักษาไปยังโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และในนั้นก็ควรจะต้องมีระบบยาด้วย” เขาให้ทิศทาง

นอกจากศูนย์กลางข้อมูลแล้ว สิ่งสำคัญที่เขายังต้องการขับเคลื่อนมีอีก 3 ประเด็น 1. การตรวจคัดกรอง และวินิจฉัย 2. ระบบส่งต่อ-หน่วยบริการรองรับ 3. ยา หรือกายอุปกรณ์ที่จำเป็น เพราะมองว่าด้วยความที่เป็นโรคหายาก บางโรคอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตก็เป็นได้ 

พลิกบทบาทสู่เส้นทางวิชาการ ทำงานช่วยเพื่อนตลอดชีวิต

จากช่วงเวลาของการทำงานขับเคลื่อนในบทบาทภาคประชาชน จนผันตัวมาถึงการทำงานด้านวิชาการที่ต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคไต ความทุ่มเทเหล่านี้ทำให้เขาได้รับรางวัล ‘มิตรภาพบำบัดดีเด่น นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประจำปี 2565’ ในรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทที่ 1 ‘ผู้ป่วย จิตอาสา มิตรภาพบำบัดดีเด่น’ ซึ่งเขามองว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและมีคุณค่า อันเป็นอีกหนึ่งดอกผลของการทำงานขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

“รางวัลนี้ยังตั้งอยู่ที่สมาคมฯ และผมเองก็ยังทำงานเหมือนเดิม” นายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ กล่าว

มาถึงตอนนี้ตัวเขาเองก็กำลังจะเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญ จากเดิมที่เป็นผู้เรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับเพื่อนผู้ป่วย มาเข้าสู่การเดินบนเส้นทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนงาน ‘ส่งเสริม และ ป้องกัน’ ซึ่งเป็นงานที่เขาย้ำว่าเป็นการมองกลับไปยัง ‘ต้นน้ำ’ โดยต้องเร่งสร้างพร้อมพัฒนาเครือข่ายให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ในการป้องกันโรค และสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกลายมาเป็นโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน ความดัน โรคไต ซึ่งนี่เป็นเส้นทางที่เขาจะเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้า

ระหว่างการพูดคุยราว 2 ชั่วโมง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ธนพลธ์ มักจะเรียกผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตว่า ‘เพื่อนเรา เพื่อน พี่น้อง’ อยู่เสมอ ซึ่งก่อนจะแยกย้ายกันไป เขาก็ยังได้ทิ้งท้ายคำมั่นสัญญาเอาไว้ว่า “ถ้าจะถามผมว่าจะทำเรื่องพวกนี้ งานด้านสุขภาพ งานด้านมิตรภาพบำบัดไปอีกนานแค่ไหน ก็จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต”

เว็บไซต์สมาคมเพื่อนโรคไตฯ: https://www.kfat.or.th/สอบถามข้อมูล โทร 02-2483735 ต่อ 124
facebook : เพจ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูล : สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ที่มา : The Coverage
v
v
v
ด้วยความปรารถนาดีจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
ขอคำปรึกษาได้ที่นี่ !